12-010 สัพพาสวสูตร อุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง



พระไตรปิฎก


๒. สัพพาสวสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง

{๑๐} [๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ๒ทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
{๑๑} [๑๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ B และอโยนิโสมนสิการ C เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ D ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร E ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี
เชิงอรรถ
A อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ
มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ
(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓
เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘)
B โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
C อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
D ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๒๑/๘๑, ม.มู.ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๐)
E สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๑) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๕๘/๕๔๗

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.