10-132 หมวดลมหายใจเข้าออก



พระไตรปิฎก


กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

{๒๗๔}[๓๗๔] ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง A ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ B
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า C มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร D หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ เมื่อชักเชือกยาว
ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’ เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก‘ E
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน F อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก G อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ (แห่ง
ลมหายใจ) ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
หมวดลมหายใจเข้าออก จบ
เชิงอรรถ
A เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา (๓) ถ้ำ (๔) ป่าช้า (๕) ป่าชัฏ (๖) ที่แจ้ง (๗) ลอมฟาง ดูข้อ ๓๒๐ หน้า ๒๔๘ ในเล่มนี้
B นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งขัดสมาธิ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)
C ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)
D ระงับการสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไป โดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๒๐/๒๙๙-๓๐๒)
E ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๕๕-๑๕๙/๑๓๘
F กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๓๗๔/๓๗๙)
G กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๔/๓๗๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.