10-120 มหาสมยสูตร



พระไตรปิฎก


๗. มหาสมยสูตร
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

{๒๓๕}[๓๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน A เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น
สักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์
มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
และเยี่ยมภิกษุสงฆ์
เทพชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐
โลกธาตุมาประชุมกัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคและเยี่ยมภิกษุสงฆ์ ทางที่ดี เราก็ควร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวคาถาองค์ละคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาค”
[๓๓๒] ลำดับนั้น เทพเหล่านั้นหายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสมาปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทพองค์หนึ่งได้กล่าว
คาถานี้ว่า
{๒๓๖} “การประชุมครั้งใหญ่ในป่าใหญ่
มีหมู่เทพมาประชุมกัน
พวกเราพากันมายังธรรมสมัย B นี้
ก็เพื่อได้เยี่ยมสงฆ์ผู้ไม่พ่ายแพ้”
จากนั้น เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
{๒๓๗} “ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น
มีจิตมั่นคง ทำจิตของตน ๆ ให้ตรง
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ไว้
เหมือนสารถีผู้กุมบังเหียนขับรถม้าไป”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
{๒๓๘} “ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดังตะปู C
ตัดกิเลสดังลิ่มสลัก ถอนกิเลสดังเสาเขื่อนได้แล้ว
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เที่ยวไป
เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ D ทรงฝึกดีแล้ว
เหมือนช้างหนุ่ม ฉะนั้น”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
{๒๓๙} “เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละกายมนุษย์แล้ว
จักทำให้หมู่เทพเจริญเต็มที่” E
เชิงอรรถ
A ป่ามหาวัน เป็นป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ อยู่ติดกับเทือกเขาหิมาลัย (ที.ม.อ. ๓๓๑/๒๘๗)
B ธรรมสมัย ในที่นี้หมายถึงสถานที่ที่ประชุมเพื่อฟังธรรม (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๕)
C กิเลสดังตะปู ในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ กิเลสดังลิ่มสลัก และกิเลสดังเสาเขื่อน ก็มีนัยเช่น เดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๖)
D มีพระจักษุ หมายถึงมีพระจักษุ ๕ คือ ๑. มังสจักขุ (ตาเนื้อ) ๒. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) ๓. ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา) ๔. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) ๕. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๕, ที.ม.อ. ๑๘๖/๑๖๙, ๓๓๔/๓๐๐)
E ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๗/๔๙-๕๐

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.