10-084 ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี



พระไตรปิฎก


ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี
{๑๗๕}[๒๕๓] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาลเหล่านี้’
แล้วรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาล
เหล่านั้น สระโบกขรณีเหล่านั้นก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด ได้แก่ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน
(๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
สระโบกขรณีเหล่านั้น แต่ละสระมีบันได ๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ
(๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทอง
มีลูกกรงทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน
ราวและหัวเสาทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและ
หัวเสาทำด้วยแก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสา
ทำด้วยแก้วไพฑูรย์ สระโบกขรณีเหล่านั้น มีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน
รั้วทองมีเสาทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและ
หัวเสาทำด้วยทอง
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ในสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้
เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า’ จึงรับสั่งให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ
อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้ เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน
ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า
[๒๕๔] ต่อมา พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณี
เหล่านี้ ทางที่ดี เราน่าจะตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้
มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ’ จึงทรงตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ
จากนั้น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้ คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทอง’
จึงทรงจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทองไว้ที่
ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
{๑๗๖}[๒๕๕] อานนท์ ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีถือเอาทรัพย์สมบัติเป็น
อันมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ทรัพย์สมบัติมากมายนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้านำมาถวายเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระ
บาทเท่านั้น ขอพระองค์ทรงรับไว้ด้วยเถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านทั้งหลายนำทรัพย์สมบัติมากมายนี้มาเพื่อเรา
ด้วยพลีอันชอบธรรม สิ่งนี้จงเป็นของพวกท่าน(ต่อไป)เถิด และจงนำกลับไปให้
มากกว่านี้’
เมืองท้าวเธอทรงปฏิเสธ พวกเขาจึงหลีกไปอยู่ ณ ที่สมควรแล้วปรึกษาหารือ
กันอย่างนี้ว่า ‘การที่พวกเราจะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้กลับคืนไปยังเรือนของตนอีก
นั้นไม่สมควร ทางที่ดี พวกเราควรช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้ามหา
สุทัสสนะ’ จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
มหาราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายใต้ฝ่าละอองธุลี
พระบาท’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
{๑๗๗}[๒๕๖] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระราชดำริของพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ จึงมีเทวบัญชาเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า ‘มาเถิด สหาย
วิสสุกรรม เธอจงไปสร้างพระนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาท ถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ’
วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับเทวบัญชาแล้ว อันตรธานจากภพดาวดึงส์ไปปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น กราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
จะเนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระองค์’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและ
ทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ มีฐานสูงกว่า ๓ ชั่วบุรุษ ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ (๑) อิฐทอง
(๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีเสา ๘๔,๐๐๐ ต้น แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เสาทอง
(๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก ปูด้วยแผ่นกระดาน ๔ ชนิด คือ
(๑) กระดานทอง (๒) กระดานเงิน (๓) กระดานแก้วไพฑูรย์ (๔) กระดานแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง
(๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำด้วย
ทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วย
ทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วผลึก
บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์
ธรรมปราสาทมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เรือน
ยอดทอง (๒) เรือนยอดเงิน (๓) เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ (๔) เรือนยอดแก้วผลึก
ในเรือนยอดทองตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดเงินตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแก้ว
ไพฑูรย์ตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแก้วผลึกตั้งบัลลังก์แก้วบุษราคัมไว้ ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดทองตั้งต้นตาลเงิน ซึ่งมีลำต้นเป็นเงิน ใบและผลเป็นทอง ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดเงินตั้งต้นตาลทอง ซึ่งมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ตั้งต้นตาลแก้วผลึก ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็น
แก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแก้วผลึกตั้งต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้ว
ไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.