10-067 พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต



พระไตรปิฎก


พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต
{๑๔๑}[๒๑๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’
ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอ
ทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส‘A
เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล
โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ
‘อายัสมา’ ก็ได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบท
เล็กน้อย B เสียบ้างก็ถอนได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่
ภิกษุฉันนะ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดได้ตามต้องการ
แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ”
{๑๔๒}[๒๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลายจงถามเถิด
จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า ‘พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะ
พระพักตร์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายตรัสว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะพระพักตร์”
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายไม่กล้าถามเพราะความเคารพในศาสดา ก็ขอให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนบอก
(ความสงสัย) แก่ภิกษุผู้เป็นเพื่อนให้(ถาม) ก็ได้ C เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้
ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มี
ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือใน
ปฏิปทา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมี
ญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัย
หรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา
ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน D ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า E
{๑๔๓}[๒๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด F” นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา
ของพระตถาคต
เชิงอรรถ
A อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าใช้เรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ ภิกษุผู้อ่อนกว่า ใช้เรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๓๑๖/๑๙๙)
B สิกขาบทเล็กน้อย พระสังคีติกาจารย์ในที่ประชุมสังคายนาครั้งแรกมีความเห็นต่างกันเป็น ๕ พวก คือ
พวกที่ ๑ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๒ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๓ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท อื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๔ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๕ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ในบรรดาความเห็นเหล่านี้ ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ ไม่ให้ถอน (วิ.จู. (แปล) ๗/๔๔๑/๓๘๒, ที.ม.อ. ๒๑๖/๒๐๐)
C อรรถกถากล่าวเสริมความให้เต็มว่า “เราจะกล่าวกับภิกษุเพียงรูปเดียว ภิกษุทั้งหมดได้ฟังแล้วก็จักหายสงสัย” (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
D พระโสดาบัน ในที่นี้ทรงหมายถึงท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
E ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๖/๑๒๑-๑๒๒
F พระพุทธพจน์บทนี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงย่อพระพุทโธวาทที่ทรงประกาศตลอดเวลา ๔๕ ปี ลงในบทว่า ความไม่ประมาทเพียงบทเดียว (ที.ม.อ. ๒๑๘/๒๐๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.