10-053 การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง



พระไตรปิฎก


การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง
{๑๐๙}[๑๘๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง A รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของ
ตถาคต มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังภัณฑุคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงภัณฑุคาม ประทับอยู่ที่
ภัณฑุคามนั้น รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
{๑๑๐} ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริย-
ปัญญา เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายถอน
ภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก B”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อันยอดเยี่ยม
ธรรมเหล่านี้ พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดา ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์
มีพระจักษุ ปรินิพพานแล้ว C”
{๑๑๑}ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่ภัณฑุคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
เชิงอรรถ
A อย่างช้างมอง หมายถึงทรงหันพระองค์กลับหลังอย่างที่พญาช้างมอง คือ พญาช้างไม่อาจจะเอี้ยวคอ มองข้างหลัง ต้องหันกลับทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น เพราะพระอัฏฐิก้านพระศอเป็นชิ้นเดียวกัน ไม่มีข้อต่อจึงไม่อาจจะเอี้ยวพระศอมองข้างหลังได้ แต่จะไม่เหมือนกับช้างมอง เพราะมีพุทธานุภาพ จึงทำ ให้แผ่นดินนี้หมุนไปเหมือนกับแป้น (กุลาลจกฺกํ) โดยทำพระผู้มีพระภาคให้มีหน้าตรงต่อกรุงเวสาลี (ที.ม.อ.๑๘๖/๑๖๘)
B ดูเทียบข้อ ๑๕๕ หน้า ๙๙ ในเล่มนี้ และดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒
C ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. ๑๘๖/๑๖๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.