10-033 ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท



พระไตรปิฎก


ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท A
[๑๔๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี
และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่า
พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)
อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีปัญญา
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจเราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ B ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอกล่าวอาสภิวาจา
เธอถือเอาด้านเดียวบันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๖] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ
พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ
หรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่
ทุกชนิดเมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น’ แม้ฉันใด
วิธีการอนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้า
หมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๔๗] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในปาวาริกัมพวัน เขตเมือง
นาฬันทา ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดย
มีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๘/๒๓๐
B เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือ รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่นรู้ว่าเขากำลัง คิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.