10-027 วิญญาณฐิติ 7 ประการ



พระไตรปิฎก


วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
(ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)

{๖๕}[๑๒๗] อานนท์ วิญญาณฐิติ A ๗ ประการ และอายตนะ ๒ ประการนี้
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์
เทพบางพวก B และวินิปาติกะบางพวก C นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑
๒. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นพรหมกายิกา D เกิดในปฐมฌานและเหล่าสัตว์ผู้เกิดใน
อบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ
พวกเทพชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นสุภกิณหะ (เทพที่เต็มไปด้วยความงดงาม) นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๔
๕. มีสัตว์ทั้งหลายผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๗
อายตนะ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา) นี้เป็นอายตนะ
ที่ ๑
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่) นี้เป็นอายตนะที่ ๒
[๑๒๘] อานนท์ ในวิญญาณฐิติ ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ ว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทพบางพวกและ
วินิปาติกะบางพวก ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
วิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลินใน
วิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ วิญญาณฐิติที่ ๗ ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวงโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร” ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของวิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลิน
ในวิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ในอายตนะ ๒ ประการนั้น อายตนะที่ ๑
คือ อสัญญีสัตตายตนะ ผู้ที่รู้อสัญญีสัตตายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของอสัญญีสัตตายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากอสัญญีสัตตายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในอสัญญีสัตตายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อายตนะที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญา-
ยตนะ ผู้ที่รู้เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุผู้รู้ถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ
ของวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ และอุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิติ ๗ และ
อายตนะ ๒ นี้ตามความเป็นจริง ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น E ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้เป็นปัญญาวิมุต F
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, ๓๕๗/๒๕๘-๒๕๙, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๔/๔๘๑-๔๘๒
B เทพบางพวก หมายถึงพวกเทพในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ
(๑) ชั้นจาตุมหาราช
(๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา
(๔) ชั้นดุสิต
(๕) ชั้นนิมมานรดี
(๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)
C วินิปาติกะบางพวก ในที่นี้หมายถึงยักษิณีและเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)
D พวกเทพชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ
(๑) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวารมหาพรหม)
(๒) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม)
(๓) มหาพรหมา (พวกท้าวมหาพรหม) (ที.ม.อ.๑๒๓/๑๐๙)
E หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น หมายถึงไม่ถือมั่นในอุปาทาน ๔ คือ
(๑) กามุปาทาน (ความถือมั่นในกาม)
(๒) ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นในทิฏฐิ)
(๓) สีลัพพตุปาทาน (ความถือมั่นในศีลพรต)
(๔) อัตตวาทุปาทาน
(ความถือมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) (ที.ม.อ. ๑๒๘/๑๑๒)
F ผู้เป็นปัญญาวิมุต หมายถึงหลุดพ้นด้วยกำลังปัญญา โดยไม่ได้บรรลุสมาธิชั้นสูงคือวิโมกข์ ๘ (ที.ม.ฏีกา
๑๒๘/๑๔๔)

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.