10-026 ความเห็นว่าเป็นอัตตา
พระไตรปิฎก
ความเห็นว่าเป็นอัตตา
{๖๓}[๑๒๑] “อานนท์ บุคคลเมื่อเห็นว่ามีอัตตา ย่อมเห็นด้วยความเห็น กี่อย่าง
บุคคลเมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’
หรือเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ หรือ
เห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรา
ยังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
[๑๒๒] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็น
อัตตาของเรา’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มีอายุ เวทนามี ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา ๓ อย่างนี้ เธอเห็นเวทนาอย่าง
ไหนว่าเป็นอัตตา’
ในคราวที่อัตตาเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุข-
เวทนาและอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุข-
เวทนาเท่านั้น
[๑๒๓] อานนท์ แม้สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุ
ปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อ
สุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยทุกข-
เวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อทุกขเวทนานั้นดับ จึงมีความ
เห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความ
เห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่ออทุกขมสุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตา
ของเราดับไปแล้ว’
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ เมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา
ย่อมเห็นอัตตา ไม่เที่ยง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบัน เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’
[๑๒๔] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ในรูปขันธ์
ซึ่งไม่มีการเสวยอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เกิดขึ้นได้หรือไม่”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะอัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์
[๑๒๕] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวย
อารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มี
อายุ ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีเวทนา เพราะ
เวทนาดับไป โดยประการทั้งปวงยังจะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ ได้หรือไม่
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์
ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
{๖๔}[๑๒๖] อานนท์ ภิกษุใดไม่เห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ไม่เห็นการเสวยอารมณ์
ว่าเป็นอัตตา และไม่เห็นว่า ‘อัตตาของเรายังต้องเสวยอารมณ์ เพราะว่าอัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ ภิกษุนั้นเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
และเมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมดับได้เฉพาะตน A
ย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นไม่สมควร ผู้ใดกล่าว
กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชื่อ คำที่เป็นเพียงชื่อ ความหมาย คำที่ใช้ตาม
ความหมาย บัญญัติ คำบัญญัติ ความเข้าใจ สื่อความเข้าใจ วัฏฏะยังเป็นไปอยู่
ตลอดกาลเพียงใด วัฏฏะย่อมหมุนไปตลอดกาลเพียงนั้น
ภิกษุชื่อว่าหลุดพ้นแล้วเพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้หลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้นว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘พระอรหันต์ย่อมไม่รู้ไม่เห็น’ การกล่าวของ
ผู้นั้นก็ไม่สมควร’
เชิงอรรถ
A ย่อมดับได้เฉพาะตน หมายถึงดับกิเลสได้ด้วยตนเอง (ที.ม.อ. ๑๒๖/๑๐๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต