02-184 ทรงอนุญาตให้มีคนทำงานวัด



พระไตรปิฎก


ทรงอนุญาตให้มีคนทำงานวัด
[๖๑๙] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งทูตไปยังสำนักพระผู้มีพระภาค ให้
กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะ
ทรงถวายคนวัด ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “เราอนุญาตให้มีคนวัด” แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้ทรงอภิวาทท่านพระ
ปิลินทวัจฉะแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับ
นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระ
ภาคทรงอนุญาตให้มีคนวัดแล้วหรือ”
“ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว”
“ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้า”
ท้าวเธอทรงให้สัญญาที่จะถวายคนวัดแก่พระเถระแต่ทรงลืม เมื่อเวลาผ่านไป
นานทรงระลึกได้ ตรัสถามมหาอมาตย์ผู้สนองราชกิจคนหนึ่งว่า “เราถวายคนวัด
ที่ให้สัญญาไว้แก่พระคุณเจ้าแล้วหรือ”
มหาอมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ ยังไม่ได้ถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้าเลย”
“ผ่านมากี่วันแล้ว”
มหาอมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ผ่านมา ๕๐๐ ราตรี” พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงถวายคนวัด ๕๐๐ คน แก่พระคุณ
เจ้า” มหาอมาตย์รับพระราชโองการแล้วจัดคนวัดไปถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ
จำนวน ๕๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านขึ้น มาต่างหากมีชื่อเรียกว่าอารามิกคามบ้าง
ปิลินทวัจฉคามบ้าง
{๑๓๙}[๖๒๐] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นพระประจำตระกูลในหมู่บ้านนั้น
เช้าวันหนึ่ง ท่านทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านปิลินทวัจฉะ
สมัยนั้น ในหมู่บ้านนั้นกำลังมีมหรสพ พวกเด็กหญิงแต่งกายประดับดอกไม้เล่นอยู่
พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับในหมู่บ้านปิลินทวัจฉะ มาถึง
เรือนคนวัดคนหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ขณะนั้น ธิดาของสตรี
คนวัดเห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้จึงร้องไห้ ขอว่า “พ่อแม่โปรดให้
ดอกไม้ โปรดให้เครื่องประดับแก่หนู” พระเถระถามสตรีนั้นว่า “เด็กคนนี้อยากได้
อะไร” นางตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เด็กคนนี้เห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้จึง
ร้องไห้ ขอพวงดอกไม้และเครื่องประดับว่า ‘พ่อแม่โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่อง
ประดับแก่หนู’ เราคนจนจะได้ดอกไม้และเครื่องประดับมาจากไหนกัน”
ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบเสวียนหญ้า A อันหนึ่งส่งให้พลางกล่าวว่า “ท่านจง
สวมเสวียนหญ้าอันนี้ที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น” หญิงคนวัดหยิบเสวียนหญ้าสวมที่ศีรษะ
เด็กหญิง เสวียนหญ้ากลายเป็นพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้
ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี พวกชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า
“ขอเดชะ ที่เรือนคนวัดโน้นมีพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำ
อย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาจากไหน ชะรอยจะได้
มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้” พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จองจำตระกูลคนวัดนั้น
ต่อมา เช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรไป
บิณฑบาตที่ปิลินทวัจฉคามอีก เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับในหมู่บ้านปิลินท
วัจฉะ เดินผ่านไปทางที่อยู่คนวัดคนนั้น ถามคนคุ้นเคยว่า “ครอบครัวคนวัดนี้ไปไหน”
ชาวบ้านตอบว่า “ครอบครัวนี้ถูกจองจำเพราะเรื่องพวงดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า”
[๖๒๑] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น พระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จเข้าไปหาพระเถระจนถึงที่นั่ง ทรงอภิวาทแล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐว่า “ขอถวายพระพร ครอบครัวคนวัดถูกจองจำเพราะเรื่องอะไร” พระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ที่บ้าน เขามีพวงดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม
พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนจนจะได้มาจากไหน ชะรอยจะ
ได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้” ทีนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานให้
ปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเป็นทองคำ ปราสาทกลายเป็นทองคำไ
ปทั้งหลัง แล้วท่านก็ถวายพระพรว่า “ทองคำมากมาย มหาบพิตรได้มาจากไหน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “โยมทราบแล้ว นี่เป็นฤทธานุภาพของพระ
คุณเจ้า” แล้วรับสั่งให้ปล่อยครอบครัวนั้น {๑๔๐}พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า “พระคุณเจ้า
ปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรมในท่ามกลางราชบริษัท”
พากันพอใจเลื่อมใสนำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย
ตามปกติท่านพระปิลินทวัจฉะก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชให้บริษัทของ
ท่าน แต่บริษัทของท่านมักมาก บรรจุเภสัชที่ได้มาแล้ว ๆ ไว้ในตุ่มบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง
จนเต็มแล้วเก็บไว้บรรจุลงในหม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แล้วแขวนไว้ที่หน้าต่าง
เภสัชเหล่านั้นไหลเยิ้มซึม จึงมีสัตว์จำพวกหนู ชุกชุมทั่ววิหาร พวกชาวบ้านเที่ยวไป
วิหารพบเข้าจึงพากันตำหนิประณาม โพนทะนาว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรเหล่านี้มีเรือนคลังเก็บของเหมือนพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ” พวกภิกษุ
ได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงคิดเพื่อความมักมากเช่นนี้เล่า”
ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
เชิงอรรถ
A “เสวียน” คือของเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อ ทำด้วยหญ้าหรือหวายเป็นต้น,
ของที่ทำเป็นวงกลม สำหรับรองหรือรับสิ่งต่าง ๆ
ดู พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕, หน้า ๘๒๑

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.