01-004 วิชชา 3



พระไตรปิฎก


วิชชา ๓
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
[๑๒] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น ได้
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง หลาย
กัปว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี
อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น มีชื่อ มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ ในยามแรกแห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๑ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
จุตูปปาตญาณ
[๑๓] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้
เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ
มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตาย
แล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ ในยามที่ ๒ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๒ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
อาสวักขยญาณ
[๑๔] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว A ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ ในยามที่ ๓ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๓ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”
เชิงอรรถ
A คำว่า “พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายเอาอริยมรรค คือ
พระอรหันต์อยู่ประพฤติอริยมรรคจบแล้ว
ส่วนกัลยาณปุถุชนและพระเสขะ ๗ พวก
ยังต้องอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ต่อไป (วิ.อ. ๑/๑๔/๑๖๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.